Latest Articles

หนองในคืออะไร มีอาการแบบไหน สามารถป้องกันและรักษาได้อย่างไร

หนองใน (Gonorrhea) คือโรคติดต่อที่สามารถแพร่กระจายได้ผ่านการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน ทั้งทางช่องคลอด ทวารหนัก หรือปาก โดยพบเห็นได้บ่อยครั้งทั้งในเพศชายและเพศหญิง ซึ่งในทางการแพทย์มีการแบ่งโรคหนองในได้เป็น 2 รูปแบบคือ หนองในแท้และหนองในเทียม โดยในแต่ละแบบนั้นมีสาเหตุ อาการ และวิธีป้องกันที่แตกต่างกันออกไป

ในบทความนี้จะขอกล่าวถึงโรคหนองในแท้และหนองในเทียม ว่า มีสาเหตุ อาการ วิธีรักษา และป้องกัน อย่างไรบ้าง

โรคหนองใน คือ ? มีสาเหตุจากอะไร ?

โรคหนองในสามารถแบ่งเป็นหนองในแท้และเทียม ตามสาเหตุของการเกิดโรค ดังนี้

  • หนองในแท้ คือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากเชื้อ Neisseria gonorrhoeae โดยสามารถติดเชื้อได้ตั้งแต่เด็กแรกเกิด มีการฟักตัว 1-14 วันหลังได้รับเชื้อ
  • หนองในเทียม เป็นการอักเสบของท่อปัสสาวะจากเชื้ออื่นๆที่ไม่ใช่ Neisseria gonorrhoeae โดยมีการฟักตัวที่มากกว่าหนองในแท้

การแพร่กระจาย

ปัจจัยเสี่ยงหลักของโรคหนองในแท้ที่สามารถพบเห็นได้บ่อยคือ การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใส่ถุงยางอนามัยหรือมีคู่นอนหลายคน โดยหนองในประเภทนี้แพร่กระจายได้ทั้งทางช่องคลอด ทวารหนัก และปาก ถึงแม้ว่าผู้ติดเชื้อจะยังไม่แสดงอาการใดๆ รวมไปถึงโรคหนองในยังสามารถแพร่กระจายเชื้อโรคจากมารดาสู่ทารกผ่านการคลอดได้อีกด้วย

หนองใน รักษาผู้ชาย

อาการ

อาการของหนองในแท้ที่เกิดกับผู้หญิงและชายแตกต่างกัน ได้แก่

ผู้ชาย

ผู้ชายที่เป็นโรคหนองในแท้จะมีอาการที่ค่อนข้างชัดเจนสามารถสังเกตได้ง่าย คือ

  • ปัสสาวะแสบขัด
  • มีสารคัดหลั่งสีขาวข้นออกมาทางอวัยวะเพศ
  • ลูกอัณฑะบวม
  • รอบองคชาตบวมแดง

ผู้หญิง

อาการหนองในผู้หญิงอาจสามารถสังเกตได้ค่อนข้างยากกว่า โดยมีอาจมีอาการดังนี้ต่อไปนี้

  • ตกขาวมีกลิ่น คัน หรือมีสีผิดปกติ
  • เลือดออกทางช่องคลอด
  • ประจำเดือนมาไม่ปกติ
  • คันบริเวณปากช่องคลอด
  • มีสารคัดหลั่ง (discharge) ออกมาทางทวารหนัก
  • เจ็บเวลาปัสสาวะหรือขับถ่าย

วิธีรักษา

ถ้าหากมีอาการเหล่านี้ และสงสัยว่าเป็นโรคหนองใน ควรหยุดการมีเพศสัมพันธ์ และรีบเดินทางไปพบแพทย์เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบและรักษา

โดยแพทย์จะทำการเก็บตัวอย่างจากช่องคลอด ปลายอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือคอ ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยเพื่อนำไปทดสอบ วิเคราะห์ถึงสาเหตุที่แท้จริง และรักษาอย่างถูกวิธีโดยใช้ยาเป็นหลัก

ยารักษาหนองใน

การรักษาโรคหนองในสามารถทำได้ด้วยการให้ยาปฏิชีวนะในรูปแบบฉีดหรือทาน ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ว่ามีอาการมากน้อยแค่ใด เช่น ในระยะเริ่มต้นแพทย์อาจให้รับประทานยาปฏิชีวนะ แต่ถ้าหากมีอาการดื้อยาแพทย์อาจเปลี่ยนเป็นการฉีดยาแทน

ซึ่งการให้ยาปฏิชีวนะจะช่วยรักษาอาการหนองในได้ แต่ไม่สามารถซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่เสียหายระหว่างเกิดโรค และหนองในอาจเกิดซ้ำอีกครั้งได้

หนองใน ยาปฏิชีวนะ

การปฏิบัติตัว

ถ้าหากคุณตรวจพบว่าเป็นโรคหนองใน คุณต้องปฏิบัติตัวตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัดเพื่อรักษาและป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค โดยแบ่งเป็น

  • ผู้ป่วยและคู่นอนงดการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะรักษาหาย หากมีเพศสัมพันธ์จำเป็นต้องใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง
  • รับประทานยา หรือรับการรักษาจนครบตามแผนการรักษาของแพทย์
  • มารับการตรวจรักษาตามแพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ

การป้องกันโรคหนองในแท้

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า โรคหนองในสามารถเกิดขึ้นได้จากการติดเชื้อหรือรับเชื้อ Neisseria gonorrhoeae ผ่านช่องทางหลากหลาย ดังนั้นคุณควรป้องกันการติดเชื้อโรคผ่านวิธีการต่างๆ ได้แก่

  • รักษาความสะอาดร่างกายและเสื้อผ้า โดยไม่ใส่ซ้ำหรือใช้ร่วมกับผู้อื่น
  • รักษาความสะอาดอวัยวะเพศหลังขับถ่ายโดยล้างจากด้านหน้าไปด้านหลัง แล้วซับให้แห้งด้วยผ้าหรือกระดาษทิชชูสะอาด
  • หากคู่นอนมีอาการน่าสงสัย ควรพาไปปรึกษาแพทย์และใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์
  • ถ้าหากมีอาการผิดปกติใดๆ ควรไปพบแพทย์ไม่ซื้อยารักษาด้วยตนเอง

หนองในหายเองได้ไหม ?

หนองในเป็นโรคติดต่อที่ไม่สามารถหายเองได้โดยธรรมชาติ และจำเป็นต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยใช้ยาปฏิชีวนะทานหรือฉีดตามคำวินิจฉัยของแพทย์

โรคหนองในกี่วันหาย ?

หลังจากรักษาโรคหนองใน อาการต่างๆ จะค่อยๆ ทุเลาลงใน 2-3 วัน ยกเว้นเสียแต่ว่าผู้ป่วยจะมีอาการหรือโรคอื่นๆ แทรกซ้อน

สรุป

หนองใน คือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบเห็นได้มากโรคหนึ่ง และสามารถแพร่กระจายได้ถ้าหากไม่มีการสวมถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ โดยผู้ป่วยจะมีอาการต่างๆ เช่น ตกขาวผิดปกติในผู้หญิง หรือลูกอัณฑะบวมในผู้ชาย

และถ้าหากคุณมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการดังกล่าวสงสัยว่าเป็นโรคหนองในหรือไม่ Medcare ยินดีให้บริการปรึกษาเภสัชกรออนไลน์และรับยาจากร้านยาใกล้บ้านภายใน 1 ชั่วโมง

คุณสามารถแอด LINE เพียงแค่คลิก https://liff.line.me/1656211307-YZBwnXVm หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://medcare.asia/