Latest Articles

ภัยเงียบที่ต้องระวัง “หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท”

หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท อาการ สาเหตุ พร้อมวิธีรักษา

อาการปวดหลังที่ใครหลายคนเจอ รู้หรือไม่ว่าอาจเป็นโรค “หมอนรองกระดูกทับเส้น” หรือ “หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท” ได้ หากคุณมีอาการปวดสะโพกร้าวลงขาร่วมกับอาการปวดหลัง ชาที่ส่วนขา สงสัยได้เลยว่าตัวเองอาจเข้าข่ายอาการโรคหมอนรองกระดูกทับเส้น ในบทความนี้จะพาทุกท่านไปรู้จักกับโรคหมอนรองกระดูกทับเส้น อาการ สาเหตุ และวิธีรักษา

หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทเกิดจากอะไร

โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท (Herniated disc) คือ ภาวะเสื่อมสภาพของโครงสร้างกระดูกสันหลัง ทำให้หมอนรองกระดูกสันหลัง (Intervertebral Disc) เสื่อมสภาพ แตกและปลิ้นไปทับเส้นประสาท อาการหลังจากหมอนรองกระดูกทับเส้นนั้นก็แตกต่างออกไปตามตำแหน่งที่กระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท อย่างไรก็ตาม อาการหลักๆ ที่พบ ได้แก่ อาการปวดหลัง ปวดหลังร้าวลงขา ลงแขน ไปจนถึงอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง และชาตามแขนตามขา

ภาวะหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทพบมากในผู้สูงอายุที่กระดูกสันหลังเริ่มเสื่อม หรืออาจพบได้ในกลุ่มคนอายุไม่เยอะที่มีกิจกรรมออกแรงหนัก ทำกิจกรรมผาดโผน หรือเคยประสบอุบัติเหตุ

อาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทแสดงอาการได้หลากหลาย หากจะสังเกตว่าตัวเองเข้าข่ายอาการหมอนรองกระดูกทับเส้นหรือไม่ ให้พิจารณาตามอาการดังต่อไปนี้

  • หากหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทบริเวณกระดูกสันหลังส่วนล่าง จะมีอาการ ปวดหลัง ปวดเอว สะโพก ในรายที่อาการรุนแรง อาจลามไปจนปวดหลังร้าวลงขา
  • หากหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทบริเวณคอ จะมีอาการปวดคอ ปวดร้าวลงแขนหรือชาตามปลายนิ้วมือ
  • กล้ามเนื้อขาหรือแขนอ่อนแรง ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง จะไม่สามารถกระดิกข้อเท้าได้
  • ชาตามมือหรือเท้า ผู้ป่วยบางรายอาจพบอาการชาจนขาเหมือนเป็นตะคริว ไม่สามารถเดินได้ไกลนัก
  • อาการปวดชัดขึ้นเมื่อ ไอ จาม หรือเบ่ง
  • ควบคุมการขับถ่ายไม่ได้ ในกรณีที่หมอนรองกระดูกกดทับไขสันหลังรุนแรง

วิธีรักษาโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

สำหรับการรักษาโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท โดยมากแล้วจะแบ่งตามระยะความรุนแรงของโรค หากยังอยู่ในอาการระยะเริ่มต้น อาจรักษาได้ด้วยการปรับพฤติกรรม กายภาพบำบัด แต่หากอาการระยะรุนแรงแพทย์จะแนะนำให้ทำการผ่าตัด

วิธีรักษาหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ได้แก่

ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต

ควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เสี่ยงทำให้เกิดโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทเช่น ทำกิจกรรมผาดโผน ยกของหนัก เพราะจะทำให้ผู้มีอาการอยู่แล้วอาการรุนแรงกว่าเดิม รวมถึงลดน้ำหนักสำหรับผู้ป่วยที่สาเหตุโรคเกิดจากปัญหาน้ำหนัก

รักษาด้วยการใช้ยา

หากมีอาการปวดในหลายๆ ส่วนของร่างกาย ทั้งปวดหลัง ปวดหลังร้าวลงขา เบื้องต้นสามารถรับประทานยาแก้ปวด ลดอักเสบ คลายกล้ามเนื้อ เพื่อบรรเทาอาการเจ็บได้

ทำกายภาพบำบัด

การทำกายภาพบำบัดจะช่วยลดอาการปวดที่เจอจากโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ถือเป็นวิธีที่ได้เห็นผลได้ดีในผู้ป่วยที่อาการยังไม่ถึงขั้นรุนแรง

รักษาด้วยการผ่าตัด

สำหรับผู้ป่วยโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทขั้นรุนแรง หรือผู้ที่รักษาด้วยวิธีที่กล่าวไปข้างต้นไม่หายขาด แพทย์จะแนะนำให้ทำการผ่าตัดกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท โดยจะนิยมผ่าตัดแบบผ่าตัดแผลเล็กผ่านกล้อง

………………………………………………………………………………………

มีคำถามเกี่ยวกับหมอนรองกระดูกทับเส้น ? ต้องการรับยารักษาโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ? Medcare พร้อมให้บริการช่วยให้คุณได้ปรึกษากับเภสัชกรมืออาชีพผ่าน LINE Mini App เเละจัดหาตัวแทนไปรับยาร้านขายยามาตรฐานเพื่อนำไปส่งให้ที่บ้านของคุณได้อย่างสะดวก ปลอดภัย ไร้กังวล

คลิกเพื่อใช้บริการ >> MedCare ปรึกษาเภสัชกรทันที